“FaaS” โมเดลธุรกิจ 8.1 หมื่นล้าน จับตลาด “เกษตรกรรายย่อย”

“FaaS” โมเดลธุรกิจ 8.1 หมื่นล้าน จับตลาด “เกษตรกรรายย่อย”

มาสำรวจเทรนด์ AgTech มูลค่ากว่า 8.1 หมื่นล้านบาท เจาะตลาดเกษตรกรรายย่อยกัน 

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ “นวัตกรรม” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจแทบทุกภาคส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคน ที่จะมีเงินมากพอให้ลงมือพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาใช้เอง

ภาคการเกษตรเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต้องเจอปัญหาที่ว่านี้ ซึ่งสาเหตุนั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องสัดส่วนคนทำธุรกิจ ที่เป็นพี่น้องเกษตรกรรายย่อยเสียเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงสถานการณ์ประชากรที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย สวนทางกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่แม้จะมีประโยชน์ แต่ก็มีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เข้าถึงยาก และใช้ต้นทุนสูง

จากข้อมูลเชิงลึกที่เกิดขึ้นจริงในภาคการเกษตร กลายเป็นที่มาของ โมเดลธุรกิจ Farming-as-a-service (FaaS) หรือ บริการช่วยเหลือด้านธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร ที่ให้บริการตั้งแต่การเช่าอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มด้านการเกษตร บริการข้อมูลเฉพาะทางเพื่อใช้วางแผนการเกษตร รวมถึงบริการทรัพยากรแรงงาน โดยจุดเด่นของ FaaS อยู่ตรงที่การคิดค่าใช้จ่ายตามบริการที่เลือกใช้ เกษตรกรไม่ต้องลงเงินก้อนใหญ่ ก็มี “นวัตกรรม” เป็นของตัวเอง
 

โดยถ้าเจาะลึกเข้าไป โมเดลธุรกิจ FaaS แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 

1. การบริหารจัดการฟาร์ม : บริการข้อมูลและการวิเคราะห์ เพื่อนำไปพัฒนาการทำการเกษตรที่แม่นยำกว่าเดิม พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยดูแลจัดการเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร
 2. การช่วยเหลือด้านการผลิต : บริการให้เช่าอุปกรณ์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการให้เช่าแรงงานคน
 3. การเข้าถึงตลาด : บริการแพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกร ซัพพลายเออร์ และผู้บริโภคให้เข้ามาเจอกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย เกษตรกรมีช่องทางการขาย ซัพพลายเออร์หรือผู้บริโภคก็ได้สินค้าที่ตอบโจทย์

จะเห็นได้ว่าโมเดลธุรกิจแบบ FaaS นี้ เข้ามาช่วยเกษตรกรได้หลายมิติ ทั้งช่วยลดต้นทุนและเวลาทำงาน ช่วยพัฒนากระบวนการผลิตให้มีศักยภาพขึ้น และเปิดประตูให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีดีๆ ได้สะดวกขึ้น  ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีตัวอย่างสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จให้เห็นบ้างแล้วดังต่อไปนี้

Agroapps สตาร์ทอัพจากประเทศกรีซ ที่โดดเด่นด้านการให้บริการด้านการบริหารจัดการฟาร์มด้วยการใช้เทคโนโลยี GPS และเซนเซอร์อัจฉริยะในการจัดการพื้นที่ทางการเกษตร โดยเฉพาะการพยากรณ์อากาศที่มีความแม่นยำสูงมาก สามารถให้ข้อมูลทั้งในแบบรายวันและตามฤดูกาล เพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนการทำงานได้เป็นระบบมากขึ้น 

Ekylibre สตาร์ทอัพจากประเทศฝรั่งเศส ที่นำหลากหลายเทคโนโลยี อาทิ IoT, Machine Learning เครื่องรับคลื่นสัญญาณวิทยุ (RFID) ไปจนถึง AI เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพผลผลิต เช่น การตรวจสอบสภาพดิน การทำเกษตรแบบอัตโนมัติ และยังมีระบบช่วยจัดการคลังสินค้าอีกด้วย

iDrone Service สตาร์ทอัพจากประเทศแซมเบีย ที่ให้บริการโดรนสำรวจและวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูก ซึ่งจุดเด่นของสตาร์ทอัพนี้คือโดรนที่มีเซนเซอร์ทั้งในรูปแบบ 2 มิติ และ 3 มิติ และกล้องระดับ 4K จึงทำให้สามารถหว่านปุ๋ย ค้นหาศัตรูพืชหรือวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกได้เต็มศักยภาพ 

Farmlyplace บริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศเยอรมัน ที่ให้บริการระบบฟาร์มทางเลือก ด้วยการใช้ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ และนำผลผลิตนั้นออกมาวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคแบบหมุนเวียน ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกร แถมยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีกด้วย

Ninjacart สตาร์ทอัพจากประเทศอินเดีย ที่โดดเด่นเรื่องซัพพลายเชน ด้วยบริการเชื่อมโยงเกษตรกร ร้านค้าปลีก ร้านอาหาร มาเจอกันด้วยแอปพลิเคชัน อีกทั้ง Ninjacart ยังเข้ามาช่วยวิเคราะห์การขาย คำนวณราคา ให้เกษตรกรและผู้ซื้อต่างได้ผลประโยชน์ เกษตรกรเองขายได้ราคาดี ผู้ซื้อก็ได้พืชผลที่สดใหม่ถึงหน้าบ้าน  

ย้อนกลับมามองสถานการณ์ในประเทศไทย ปัจจุบันเกษตรกรไทยกว่า 50% จัดอยู่ในประเภทเกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีที่ดินน้อยกว่า 10 ไร่ แถมยังมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 60,276 บาทต่อหัว/ปี หรือเพียง 5,023 บาทต่อหัว/เดือน 

คงจะดีไม่น้อยถ้าประเทศไทยของเรามีบริการที่หลากหลาย สอดรับกับวิถีการทำงานและรายได้ของเกษตรกร โมเดลธุรกิจแบบนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ความต้องการตลาด และเป็นอีกแนวทางให้เกษตรเข้าถึงเทคโนโลยีและบริการที่ก้าวหน้าได้อย่างเท่าเทียม

จากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในภาคการเกษตร นำมาสู่โมเดลทางเลือกให้เกษตรกร นับว่า FaaS เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ธุรกิจที่น่าจับตามองไม่น้อย โดยจากผลสำรวจของ BIS Research คาดว่าตลาด FaaS ทั่วโลก จะมีแนวโน้มเติบโตได้สูงถึง 8.1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2024 เลยทีเดียว

หากสตาร์ทอัพไหนมีไอเดียหรือสนใจอยากพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร NIA ก็พร้อมสนับสนุนโครงการที่มีแนวคิดดีๆ เช่นนี้ เพราะเราเชื่อว่า การมีนวัตกรรมดีๆ จะไม่เพียงช่วยยกระดับอุตสาหกรรม แต่ยังนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตดีๆ ให้กับคนไทยได้อย่างยั่งยืน 

ข้อมูลอ้างอิงจาก :
https://yourstory.com/2018/02/farming-service-faas-revival-agriculture/amp
https://www.quora.com/What-is-farming-as-a-service-FaaS-model
https://www.startus-insights.com/innovators-guide/5-top-farming-as-a-service-faas-startups/
https://www.researchandmarkets.com/reports/4832377/global-agriculture-technology-as-a-service/
https://themomentum.co/agriculture-in-thailand-2019/
https://voicetv.co.th/read/wNKKQKTcF