AGRITECHNICA ASIA and HORTI ASIA 2024

[News Update] NIA พาสตาร์ทอัพด้านเกษตร 3 ราย ร่วมแสดงผลงานนวัตกรรมภายในนิทรรศการนานาชาติด้านพืชและสวน “AGRITECHNICA ASIA and HORTI ASIA 2024” พร้อมจัดงานสัมมนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน (AgTech Connext)
         .
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พาสตาร์ทอัพด้านเกษตร 3 ราย ได้แก่ ไบโอม ฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย และริมโรโบติกส์ ร่วมแสดงผลงานนวัตกรรมภายในนิทรรศการนานาชาติด้านพืชและสวน “AGRITECHNICA ASIA and HORTI ASIA 2024” พร้อมจัดงานสัมมนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน (AgTech Connext) นอกจากยังมีอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี EV เพื่อการเกษตร ได้แก่ ไทยอชิเทค เปิดตัวรถแทรกเตอร์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูง พร้อมเปิดจองสำหรับฟาร์มที่ต้องการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู้โลกร้อนกันได้แล้ว นับได้ว่าผู้ประกอบการฝีมือนวัตกรรมเกษตรไทยได้ร่วมแสดงศักยภาพเทียบเท่ากับระดับนานาชาติ โดยได้รับความสนใจจำนวนมาก พร้อมสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ
.
งานนิทรรศการนานาชาติด้านพืชและสวน “AGRITECHNICA ASIA and HORTI ASIA 2024” จัดขึ้นโดยสมาคมเกษตรกรรมเยอรมัน และ บริษัท วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค จำกัด โดยมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นเจ้าภาพร่วม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ร่วมสนับสนุนการจัดงาน เมื่อวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ภายในงานนี้ได้รวบรวมสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรจากทั่วโลกกว่า 353 ราย จาก 28 ประเทศ เป็นพื้นที่พบปะพูดคุยเพื่อเปิดโอกาสในสร้างความร่วมมือและทำความรู้จักกับผู้ประกอบการสำคัญๆ ในอุตสาหกรรมเกษตรระดับโลก
.
นอกจากนี้ NIA ยังได้จัดงานสัมมนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในภาคการเกษตร นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน (AgTech Connext) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ณ ห้อง Amber 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) โดยมีนางสาวมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม NIA ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านเกษตร ด้วยการบ่มเพาะเร่งสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพเกษตร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกษตรในภูมิภาคอาเซียน และนางสาวปุญชรัสมิ์ วังน้อย นักส่งเสริมนวัตกรรม NIA ได้นำเสนอที่มาของโครงการ AgTech Connext โดยเป้าหมายสำคัญคือ เป็นสะพานเชื่อมให้กับสตาร์ทอัพด้านการเกษตรให้มีโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และเป็นช่องทางให้กับกลุ่มเกษตรกรได้รับรู้ รวมทั้งโอกาสในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดจากสตาร์ทอัพการเกษตรของไทยไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรได้เพิ่มมากขึ้น
.
ต่อด้วยการนำเสนอผลงานนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านเกษตร ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก NIA ทั้ง 3 ราย ได้แก่
– BIOM (ไบโอม) : เทคโนโลยีจุลินทรีย์คึกคักที่ผ่านการคัดเลือกสายพันธุ์แบบเฉพาะเจาะจงให้สามารถฟื้นฟูคุณภาพดินจากสารเคมีตกค้าง พร้อมทั้งเพิ่มผลผลิตให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน สำหรับเกษตรกรที่ต้องการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์หรือฟื้นฟูสภาพดินใช้ฟื้นฟูดิน สามารถย่อยสลายสารปราบศัตรูพืช จุลินทรีย์คึกคักคือคำตอบที่ช่วยได้อย่างยั่งยืน
 
.
– FarmConnect (ฟาร์มคอนเน็ค เอเชีย) : ระบบบริหารจัดการการให้น้ำและปุ๋ยอย่างแม่นยำ (Precision Irrigation) มีเทคโนโลยี IoT พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลสู่ปัญญาประดิษฐ์มาสนับสนุนแก้ปัญหาการให้น้ำและปุ๋ยกับพืชในปริมาณที่เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทั้งประหยัดน้ำและลดต้นทุนของการใช้ปุ๋ยจำนวนมากเกินไปด้วย สามารถนำไปใช้งานได้ทั้งสวนผัก สวนทุเรียน สวนเมล่อน หรือแปลงเกษตรกรอื่นๆ
 
– Rimbotics (ริมโบติกส์) : เรือรดน้ำอัตโนมัติไร้คนขับ ที่มีการออกแบบใช้ระบบเซ็นเซอร์ IoT ทำหน้าที่ควบคุมเรือรดน้ำแทนคน การตรวจจับร่องน้ำ ให้อยู่กลางร่องน้ำเสมอ และควบคุมการเลี้ยวเมื่อเจอทางแยกของร่องน้ำ นอกจากนี้บางสวนที่มีเรืออยู่แล้ว สามารถติดตั้งเฉพาะอุปกรณ์ต่อพ่วงให้เป็นเรือรดน้ำไร้คนขับได้ราคาถูกลงได้ เมื่อแรงงานคนหายาก การทำงานอะไรซ้ำๆ เดิมๆ การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นสิ่งมาช่วยสนับสนุนการทำงานเกษตรกรให้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
.
ในช่วงสุดท้ายของงานสัมมนา เปิดโอกาสให้มีแลกเปลี่ยนมุมมอง และวิสัยทัศน์ ระหว่างสตาร์ทอัพและกลุ่มเกษตรกร เพื่อการเติบโตไปด้วยกัน งานนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพลิกโฉมการเกษตรไทยผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่มีผู้เข้าร่วมงานจากประเทศไทยและนานาชาติ จำนวนกว่า 200 คน ที่จะมาร่วมเชื่อมต่อประสานให้เกิดการนำ Solution ดีๆ จากสตาร์ทอัพเกษตรไปใช้งานแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
.