NIA สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพเกษตร รวมพลังสร้างความร่วมมือยกระดับภาคเกษตร

[News Update] NIA สร้างเครือข่ายสตาร์ทอัพเกษตร รวมพลังสร้างความร่วมมือยกระดับภาคเกษตร 🚀👨‍🌾
.
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนในระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ทั้งบริษัทอุตสาหกรรมเกษตร นักลงทุน หน่วยงานสนับสนุน มหาวิทยาลัย หน่วยงานบ่มเพาะและเร่งสร้าง จัดงานประชุมเครือข่ายสตาร์ทอัพด้านการเกษตร เรื่อง “แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับสตาร์ทอัพที่ได้รับการร่วมลงทุนและนักลงทุน” เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
โดยมีนายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA ได้กล่าวถึงความสำคัญของภาคเกษตร เนื่องจากมีความสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยสูงมาก โดยระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา NIA ได้ริเริ่มการเร่งสร้างและพัฒนาให้เกิดสตาร์ทอัพด้านเกษตรที่จะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ผ่านเครือข่ายความร่วมมือภายใต้การดำเนินงานเร่งการเติบโตของธุรกิจและช่วยบ่มเพาะธุรกิจด้านการเกษตร ให้มีโอกาสขยายตลาดให้เติบโตมากขึ้น ตลอดจนได้รับการร่วมลงทุน
.
จากนั้นนายสิรพัฒน์ ชนะกุล นักส่งเสริมนวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม ได้สรุปสถานการณ์ปัจจุบันของระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านการเกษตร โดยได้กล่าวว่า NIA ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในระบบนิเวศ ส่งเสริมและพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร ผ่านเครื่องมือ 3 กลไกหลัก ได้แก่ 1.Groom การบ่มเพาะและเร่งสร้างให้เกิดสตาร์ทอัพรายใหม่ 2.Grant มีเงินทุนให้เปล่าสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ด้วยวงเงินงบประมาณ 1.5 ถึง 5 ล้านบาท และ 3. Growth การเชื่อมโยงตลาดและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ ในปัจจุบัน มีสตาร์ทอัพด้านการเกษตรอยู่ในระบบนิเวศจำนวน 81 ราย ยังอยู่ระหว่างรวบรวมฐานข้อมูลเพิ่มเติม คาดว่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 100 ราย และได้รับเงินทุนและเงินลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท เกษตรกรได้เข้าถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ ไม่น้อยกว่า 20,000 ราย และมีแผนงานสร้างการรับรู้และแพร่กระจายเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยังเกษตรกรทั่วประเทศให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป
.
ต่อด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.กิติญา วงษ์คำจันทร์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ยูนิฟาร์ส จำกัด ที่เพิ่งได้รับการลงทุนมาเมื่อต้นปีนี้ มาแชร์ประสบการณ์ต่อยอดผลงานวิจัยสู่สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมเกษตร อาหารและปศุสัตว์ จนได้รับการร่วมลงทุนเพื่อขยายธุรกิจสู่การเติบโต
.
พร้อมทั้งมุมมองจากนักลงทุนจาก คุณนฤศันส์ ธันวารชร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และ คุณฐิติรัตน์ สิทธัครเดช Principal ADB Ventures, Asian Development Bank ได้ให้แนวทางเตรียมตัวสร้างรูปแบบธุรกิจที่สตาร์ทอัพต้องสามารถแสดงให้เห็นการเติบโตของธุรกิจ จะสามารถสร้างโอกาสการได้รับร่วมลงทุน
นอกจากนี้ คุณธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย. ประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร ได้ให้ข้อคิดสำคัญของสตาร์อทัพในการส่งต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเกษตรกร ต้องมีความเข้าใจและหาแนวทางให้ตรงกับความต้องการของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อให้สามารถขยายการใช้งานเติบโตได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงยังมีอีกแหล่งเงินร่วมลงทุนจาก “กองทุนอินโนเวชั่นวัน” สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)
.
ปิดท้าย ด้วยการอัปเดตความคืบหน้าของการจัดตั้งสมาคมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย (Thai AgTech Startup Association, TASA) ในครึ่งปีหลังจากนี้จะเริ่มดำเนินกิจกรรมอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นศูนย์กลางสร้างความร่วมมือที่พร้อมร่วมกันแก้ปัญหาให้กับภาคเกษตรกันต่อไป
.